ชีวิตกับห้องสมุด

นึกย้อนกลับไปตั้งแต่จำความได้เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน ชีวิตก็ผูกพันธ์อยู่กับห้องสมุดมาโดยตลอด จำได้ว่าครั้งแรกที่รู้จักห้องสมุด คือเมื่อสมัยประถม เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ยังไม่ค่อยฮิตเรียนพิเศษอะไรเยอะแยะเหมือนสมัยนี้ ที่บ้านก็เลยต้องพาไปทำงานด้วยเป็นปรกติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีห้องสมุดอยู่ชั้นบน เค้าก็ไปปล่อยเราไว้ในนั้น ไอ้เราก็ชอบซะด้วย เพราะหนึ่งมันมีแอร์ และสองมันมีมุมนิทานและหนังสือการ์ตูนให้หยิบมานั่งอ่าน จำได้เลยว่าเป็นดราก้อนบอล สมัยที่ยังสู้กับ เรดริบบ้อนอยู่เลย

ชีวิตห้องสมุดจริงๆจังๆน่าจะเริ่มในช่วง ม.ต้น เริ่มเข้าไปขลุกอยู่กับห้องสมุดของโรงเรียน เหมือนกับคนอื่นๆเพราะเนื่องจากว่าห้องสมุดที่โรงเรียนเป็นห้องที่ติดแอร์เป็นห้องแรกๆ (ห้องแอร์ในโรงเรียนรัฐบาลสมันก่อนมันไฮโซวมากนะ) เป็นคนชอบอยู่เงียบๆก็จะไปนั่งแอบๆอยู่ระหว่างตู้หนังสือ นั่งอยู่เฉยๆก็กระไรเห็นอะไรก็หยิบมาอ่าน เลือกเอาเล่มเล็กๆก่อน แล้วก็เริ่มติดสิ่งทีเรียกว่าวรรณกรรมเยาวชนตั้งแต่นั้นมา จำได้อีกว่าเป็นวรรณกรรมแปล เพราะชื่อตัวละครเป็นฝรั่ง

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในความทรงจำช่วง ม.ต้น คือ “หอสมุดแห่งชาติ” น่าจะเป็นที่หนีเที่ยว เสาร์ อาทิตย์ ของเด็กๆ ก่อนที่เราจะรู้จักการเดินห้าง อาคารใหม่ด้านหลัง (ถ้าจำไม่ผิด อาคาร 4) จะเป็นแหล่งซ่องสุมของนักเรียนที่มาหาข้อมูลทำรายงาน ซึ่งจริงๆก็คือลอกข้อมูลจากหนังสือไปส่งอาจารย์นั่นแหละ ที่นี่เราเริ่มเรียนรู้ว่าห้องสมุดไม่ได้จำกัดเฉพาะหนังสือ เพราะหลังจากการบ้านเสร็จ เราก็จะขึ้นไปฟังเพลง และดูการ์ตูนฟรีกันที่อาคารหน้าชั้นสี่ ห้องดนตรี

ช่วงเวลาที่เริ่มเสพติดหนังสือจริงๆจังๆคงเป็นช่วง ม.6 เพราะมีวิชานึงบังคับให้อ่านหนังสือแล้วสรุปใจความแปลเป็นไทยและอังกฤษส่งทั้งหมดเจ็ดเล่ม แบ่งเป็นเทอมละสามเล่ม แล้วก็ช่วงปิดเทอมย่อยอีกหนึ่งเล่ม เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านหนังสือที่เป็นนิยาย เล่มใหญ่ ๆ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” แต่ส่วนตัวช่วงนั้นยังชอบหนังสือที่เป็นรวมเรื่องสั้น แล้วก็เป็นนิยายแนววิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ “เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว” และเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์อืนๆ ช่วงนั้นถ้าเห็นชื่อ ชัยคุป จะพุ่งไปในทันที ช่วงนี้อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บริการห้องสมุดเท่าไหร่ เพราะเน้นอ่านหนังสือเรียนเตรียมสอบเอ็นทรานเป็นสำคัญ

กลับมาเสพหนังสืออีกครั้งหลังจากสอบเอ็นทราน แต่ก็ห่างจากห้องสมุดไปเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาดโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย  หลังจากที่ได้ผลสอบเรียบร้อย มีที่เรียนแล้วก็กระหน่ำซื้อหนังสืออีกครั้ง มีบัตรสมาชิก ร้านหนังสืออยู่หลายใบ ช่วงที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เป็นช่วงที่กำลังจะรื้อหอสมุดที่อยู่บนดิน แล้วเอาไปสร้างใต้ดิน .. อย่างน้อยก็รู้สึกดีที่ยังทันรุ่นสุดท้ายที่เคยได้เข้าไปใช้หอสมุดที่อยู่ในหนังเรื่อง บุญชู : )

ชีวิตมหาวิทยาลัยก็วนเวียนอยู่กับห้องสมุด ซึ่งมักจะเป็นทั้งที่สิงสถิตเวลาทำการบ้าน เวลาอ่านหนังสือ และเวลาแอบไปนอน ย้ายจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เวียนไปตามห้องสมุดของคณะต่างๆ ตามแต่วิชาที่ลงเรียนไว้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากการใช้ index card เวลาหาหนังสือ เปลี่ยนไปเป็นระบบค้นหาผ่านคอมพิวเตอร์ .. เปลี่ยนจากสถานที่แห่งความเงียบ กลายเป็นสวนสนุกของนักศึกษาซึ่งส่งเสียงกันอย่างไม่เกรงใจใคร (เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่) ได้อ่านสามก๊กครั้งแรกจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย

ช่วงที่ไปเรียนต่อที่อเมริกาถือได้ว่าเป็นช่วงชีวิตทีลำบากที่สุดช่วงนึง และสิ่งบันเทิงทั้งหมดที่พอจะหามาได้ก็มาจากห้องสมุดสาธารณะของเมืองต่างๆ ที่อเมริกาจะมีห้องสมุดประจำเมืองทุกๆเมือง แต่ละห้องสมุดจะแลกเปลี่ยนหนังสือ ซีดี วีดีโอต่างๆกันได้ในระหว่างพื้นที่มลรัฐ หมายความว่า เราสามารถยืมหนังจากเมืองข้างๆมาดูได้ เค้าจะทำหน้าที่ส่งแลกเปลี่ยนกัน เราแค่แวะไปรับ-คืน ณ สาขาห้องสมุดที่เราสะดวก นอกจากนั้น ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ใครๆก็เข้าไปใช้ได้ อาจจะยืมหนังสือออกมาไม่ได้ แต่ทุกที่ก็ยินดีให้เราเข้าไปใช้งาน ตราบใดที่ไม่ได้เอาของเข้าไปกิน หรือเข้าไปส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น ห้องสมุดที่ประทับใจที่สุดคือ หอสมุดกลางของ UC Berkeley .. ลองนึกภาพหอสมุดขนาดเท่า Em’District มีสามอาคาร อาคารละห้าชั้น .. ซึ่งเราเคยไปเดินหลงหาทางออกไม่เจอมาแล้ว

ถึงแม้ส่วนตัวจะไม่ได้โชคดีพอที่จะได้เรียนที่ มหาวิทยาลัยระดับโลก แต่กระบวนการศึกษาของอเมริกาเป็นไปไม่ได้ที่จะห่างจากห้องสมุด ในช่วงเวลานั้นนอกจากจะมีหนังสือไว้ทำการบ้านแล้ว free internet เป็นอีกเหตุผลนึงที่จะเห็นเราไปนั่งอยู่แถวนั้นได้ทั้งวัน

หลังจากกลับประเทศบ้านเกิดเริ่มงานกับ บริษัทข้ามชาติที่มีสาขาย่อยเล็กๆในเมืองไทย ก็ยังคงมีห้องเล็กๆจัดเป็นห้องหนังสือ จนถึงทุกวันนี้ย้ายมาลงหลักกับองค์กรใหญ่ ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่กับห้องสมุดขนาดสองชั้นใหญ่ๆที่นี่ ที่จัดได้ว่ามีมุมอ่านหนังสือที่วิวดีเอามากๆ

เราเชื่อว่าห้องสมุดสร้างบุคคลากรคุณภาพให้กับสังคมมามากต่อมาก และจะหงุดหงิดมากเวลาที่ห้องสมุดถูกทำให้กลายเป็นร้านกาแฟ หรือห้องรับแขก เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าเรารักห้องสมุดทุกที่ เรารักหนังสือ เราถนอมหนังสือทุกประเภท ทุกเล่ม เราเชื่อว่าการอ่านจะเปิดทางออกในยามคับขันให้เราได้เสมอ หนึ่งในความฝันของเราคืออยากมีห้องสมุดเล็กๆเป็นของตัวเอง เราอยากเห็นคนที่เปลี่ยนชีวิตได้เพราะได้เจอหนังสือซักเล่มนึง เราหวังว่ามันจะเป็นจริงซักวัน