เมื่ออะไรไม่เป็นไปตามแผน

หัวข้อเรื่องเป็นสรุปสั้นๆของสภาพสัปดาห์ที่ผ่านมา (ต้นเดือนมีนา 64) เป็นสัปดาห์ที่แต่ละวันมีการเปลี่ยนแผนทุกวัน ไม่มีวันไหนเลยที่ไ้ด้สะสางงานที่ตั้งใจเอาไว้ และไม่มีวันไหนเลยที่ได้ทำตามกิจวัตรปรกติของวัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงบ่นยาวๆและรู้สึกว่ามันเป็นสัปดาห์ที่แย่ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่ารู้สึกเฉยๆ บันทึกนี้ก็คงแค่เล่าให้ฟัง

ปรกติกิจกวัตรประจำของวันทำงานก็จะออกจากบ้านประมาณเจ็ดโมงกว่าๆ แวะระหว่างทางเพื่อซื้ออาหารมื้อเช้าและมื้อเที่ยงเตรียมไว้ ถึงที่ทำงานแปดโมงกว่าๆ ซึ่งจะวางแผนก่อนนอนเอาไว้อยู่แล้วว่าในวันรุ่งขึ้นตั้งใจจะสะสางงานอะไรบ้าง ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่ามีการนัดคุยงาน หรือประชุมกับทีมหรือผู้ประสานงานคนไหนไว้บ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็จะมีวันที่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานได้ตลอดทั้งวัน หรือต้องทำใจรอไว้ว่าจะต้องสลับสภาพจิตใจสำหรับต้องคุยกับผู้คน สำหรับช่วงเย็นจะหยุดทำงานประมาณห้าโมงเย็น ออกกำลังหนึ่งช่วงโมง ถ้างานยังไม่เสร็จก็อาจจะกลับมาทำต่อ ถ้ายังรอได้ก็กลับบ้านแล้วค่อยไปจัดคิวงานสำหรับวันถัดไปก่อนนอน วนลูปประมาณนี้

จันทร์ถึงศุกร์ที่ผ่านมา ทำกิจวัตรไม่ได้ซักวันเลยฮะ จากห้าวันสามารถออกกำลังได้แค่สองวันคืออังคารและพฤหัส ตารางประชุมที่เดิมมีคือจันทร์ กับศุกร์ กลายเป็นว่ามีการเลื่อนหนึ่งครั้ง และมีการเรียกคุยงานแบบด่วนๆทุกวัน ทำให้งานใหม่ที่ตั้งใจจะขึ้นโครงเอาไว้ก่อน ยังคงไม่ได้เริ่มอะไรเป็นชิ้นอัน และงานที่ทำอยู่ก็เสร็จไม่ครบดี

มองย้อนกลับไปมันดูวุ่นมากมาย แต่ก็มีแปลกใจที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกวุ่นวายอะไร ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่ามีระดับความปลงเยอะขึ้นมากจากเหตุที่ต้องปรับตัวรับสถานการณ์ new normal มาตลอดทั้งปี (กว่าๆ) แล้วหลังจากปีใหม่ที่ผ่านมา รู้สึกว่าตัวเองเสพติดความสงบมากขึ้น ไม่อยากจะไปว้าวุ่นกับอะไร ซึ่งมันทำให้เรียนรู้ว่าการ “ช่างมัน” บ้างมันเป็นทางออกที่โอเคในหลายๆสถานการณ์

ส่วนตัวแล้วเวลาทำงานก็มักจะมองว่างานของเราคือการแก้ปัญหา ซึ่งบางทีเราก็สนุกเกินไปกับการพยายามแก้สถานการณ์ความยุ่งยากต่างๆ ซึ่งหลายครั้งมันบันทอนทั้งสภาพร่างการและจิตใจ แต่ในเวลานั้นความสุขจากความสำเร็จมันหอมหวาน กลบเกลื่อนความเจ็บปวดนั้นไป พอถึงเวลาที่ร่างกายและจิตใจมันโรยราและโหยหาความสุขจากความสงบมากกว่า ก็ต้องย้อนมาดูความยุ่งยากในอีกมุมนึง แล้วอาจจะพบว่า มันมีปัจจัยภายนอกอื่นๆที่อยู่เหนือการควบคุม หรือปัญหาภายในที่ไม่ได้มาจากเรา และการที่เราแรงของเราไปแลกเพื่อความสำเร็จ มันไม่ได้เป็นวิธีที่ยั่งยืน

งานที่ต้องทำกันหลายคน ถ้ามันยุ่งเหยิงนักก็ต้องปลง แล้วก็ปล่อยให้ปัญหามันแสดงผลออกมาบ้าง เพื่อให้ทุกคนที่มีส่วนได้รับรู้ และพัฒนาหาทางแก้ไขร่วมกัน มันไม่ควรต้องมีแค่ใครหรือส่วนใดมารับภาระแต่เพียงส่วนเดียว แล้วก็กลบปัญหาเอาไว้ เพราะปลายทางก็คือทุกคน “ปลง” กันหมด แล้วภาพใหญ่จะไม่เหลืออะไรเลย