สิบประโยคที่ไม่ควรพูดในการบรรยาย

ในการเข้าร่วมประชุมหรือการฟังสัมมนาต่างๆ ผู้บรรยายมักจะมีคำพูดติดปากคล้ายๆกัน ด้วยเหตุผลต่างๆซึ่งอาจจะมาจากการคั่นเวลา การขออภัยในความผิดพลาด การทักทายผู้ฟัง หรือการถามตอบประเด็นต่างๆ แต่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด จะอยู่ในช่วงเวลานาทีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำหรับการดึงความสนใจ (เพราะผู้ฟังเองก็พร้อมที่จะจับประเด็นหัวข้ออยู่เช่นกัน) และมักจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้บรรยายมักจะพลาดดึงความสนใจผู้ฟังอยู่บ่อยๆ และเหล่านี้คือสิบวลีที่ไม่ควรพูดระหว่างการการบรรยาย

ห้องสัมมนา

Photo by Peter Hellebrand

1: “เมื่อเช้ารถติดมากเลย” / “เพิ่งบินกลับมายังไม่พักเลย”

โดยทั่วไปแล้วในกรบรรยาย 5 ครั้ง มักจะมี 1 ครั้งที่ผู้บรรยายเริ่มต้นด้วยการออกตัวไว้ก่อน ในเรื่องอะไรบางอย่าง เผื่อว่าจะมีข้อผิดพลาดอะไร ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ฟัง และไม่ควรจะต้องให้ผู้ฟังมารับรู้อะไร .. ถ้าคุณไม่พร้อม การบอกปฏิเสธไปตั้งแต่ต้น น่าจะดูเป็นมืออาชีพมากกว่า

2: “เดี่ยวผมกลับมาตอบ” / “เดี๋ยวจะพูดอยู่ใน slide หลังๆ”

การปฏิสัมพันธ์จากผู้ฟังถือเป็นตัวชีวัดที่ดีว่าเค้าตั้งใจฟังเราอยู่จริงๆ เมื่อมีคำถาม อย่าบอกปัด หรือผลัดให้รอจนถึง slide ที่เตรียมไว้ ควรจะตอบประเด็นนั้นทันที หรือข้ามไปที่ slide นั้นๆ เพื่อให้ความสนใจในประเด็นต่อเนื่องไปจนจบ

3: “ได้ยินไหม, ไมค์ดังนะ”

การเคาะไมโครโฟน หรือการพูดใส่เพื่อทดสอบเสียง ไม่มีความจำเป็นใดใด ปรกติเวลาผู้บรรยายตรวจสอบไมโครโฟน ผู้ฟังเองก็ไม่ได้สนใจจะตอบสนองอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นหน้าที่ของทีมจัดงานที่ต้องเตรียมการไว้ให้เราแล้วล่วงหน้า ผู้บรรยายควรเริ่มต้นด้วยเรื่องที่จะพูดเลย หากเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิค ให้เป็นธุระของเจ้าหน้าที่จัดงานจะดีกว่า

ไมค์โครโฟน

4: “แสงสปอตไลท์จ้าดีจัง มองไม่เห็นคนฟังเลย”

การมีแสงส่องมาที่ผู้บรรยายบนเวทีเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกเล่าให้ผู้ฟังรับรู้ หน้าที่ของผู้บรรยายคือ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเห็นผู้ฟังอย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง เดินเข้าไปหาโดยตรง หรือสามารถบอกเจ้าหน้าที่แสงไฟอย่างสุภาพให้ช่วยท่านได้ หรือดีที่สุดคือประสานงานกับเจ้าหน้าที่แสงไฟก่อนการบรรยาย ว่าช่วงไหนให้ส่องไฟไปที่ผู้ฟัง

5: “อ่าน slide ออกกันไหม”

เป็นเรื่องธรรมดาในการทำ slide ว่าตัวอักษรต้องใหญ่กว่าปรกติอย่างน้อยสองเท่า ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้บรรยายที่เป็นมืออาชีพต้องทำการบ้านมาก่อนอยู่แล้วว่าผู้ฟังเป็นใคร มีความสามารถในการมองเห็น หรือชอบการจัดวางเนื้อหาบน slide แบบไหน ซึ่งประเด็นคำพูดประโยคนี้มักจะตามมาด้วยประโยคต่อไปว่า..

6: “เดี๋ยวจะอ่านให้ฟังนะ”

slide ที่ดีจะไม่มี ไม่มี ไม่มี (ย้ำอีกที) ทางที่ตัวหนังสือจะมีจำนวนคำมากถึงกับจำเป็นต้องอ่าน เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ทีคุณจะต้องอ่านข้อความบน slide ให้ผู้ฟังฟัง จะไม่มีวันเกิดขึ้นเป็นอันขาด แล้วในกรณีที่ slide มีตัวหนังสือเยอะขนาดผู้ฟ้งต้องอ่านล่ะ ? … เค้าก็จะเริ่มอ่านแทนที่จะตั้งใจฟังคุณไงล่ะ …

แต่ถ้าจำเป็น จำเป็นจริงๆ เช่นเป็นคำคมของใครซักคน หน้าที่ของผู้บรรยายคือบอกให้ผู้ฟังอ่าน แล้วก็หยุดซักแป๊ปนึง ให้เวลาผู้ฟังอ่านคำคมนั้นๆ แล้วเราก็บรรยายต่อไป

7: “กรุณาปิดอุปกรณ์สื่อสารของคุณ”

เมื่อก่อนนี้ การบอกผู้ฟังให้ปิดโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องปรกติ แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้ฟังหลายๆคน tweet คำพูดของเราขึ้นไปบน timeline แบบ realtime ผู้ฟังอีกหลายๆคนใช้ iPad ในการจดบันทึกย่อต่างๆ คุณไม่สามารถห้ามการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆของผู้ฟังได้อีกแล้ว หน้าที่ของคุณคือทำยังไงให้การบรรยายของคุณน่าสนใจถึงขนาดที่ผู้ฟังของคุณวางอุปกรณ์เหล่านั้นไว้ที่ตัก แล้วเงยหน้าขึ้นมาจากจอ มาฟังการบรรยายที่สุดยอดของคุณ

สมุดโน้ตและปากกา

8: “ไม่ต้องจดโน้ตนะ..เดี๋ยว slide นี้จะเปิดให้ดาวโหลดได้ที่…”

เป็นเรื่องที่ดีที่เปิดให้ผู้ฟังสามารถดาวโหลด slide ได้ทีหลัง แต่อย่าลืมว่า slide ที่ดีมันไม่ได้มีตัวหนังสือเยอะขนาดที่สามารถอ่านได้ทีหลังอยู่แล้ว และการจดโน้ตของผู้ฟัง เป็นวิธีการหนึ่งในการบันทึกประเด็นต่างๆที่น่าจดจำ และสามารถนำไปต่อยอดทีหลังได้ และเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกคุณได้ว่าเค้าตั้งใจฟังคุณจริงๆ

9: “ผมตอบคำถามคุณเลยละกัน”

เป็นเรื่องที่ดี ที่จะตอบคำถามจากผู้ฟังท่านหนึ่งท่านใดในทันที แต่อย่าลืมว่า ผู้ฟังท่านอื่นๆอาจจะไม่ได้เข้าใจคำถามนั้นๆก็ได้ เพราะฉะนั้นมันจะดีที่สุดที่จะพูดว่า “ขออนุญาตทวนคำถามให้ทุกๆท่านเข้าใจไปในทางเดียวกันแบบนี้นะ….” แล้วจึงตอบคำถามนั้นๆ อีกอย่างหนึ่ง การทวนคำถาม เป็นการถ่วงเวลาให้คุณคิดหาคำตอบได้มากขึ้น จริงไหม?

10: “เอาสั้นๆนะ…”

อย่าเริ่มต้นพูดในสิ่งที่คุณทำไม่ได้ ปรกติแล้วในการบรรยายเรื่องใดใด ยิ่งพูดก็มักจะยิ่งยาว สิ่งที่สำคัญคือผู้ฟังเค้าไม่ไดสนใจเท่าไหร่หรอกว่าการบรรยายจะสั้น หรือจะยาว เค้าสนใจว่ามันมีประโยชน์หรือเปล่ามากกว่า และนั่นคืนสิ่งที่ผู้บรรยายควรจะเริ่มต้นการบรรยาย เพื่อดึงความสนใจว่า เนื้อหาต่อไปนี้มันจะส่งผลกระทบอะไรกับผู้ฟังบ้าง

แถมท้าย: “เวลาหมดแล้วเหรอ ยังเหลือ slide อีกเยอะเลยนะเนี่ย”

การพูดแบบนี้เป็นการกระทำที่พลาดอย่างรุนแรง ผู้บรรยายที่มีการเตรียมตัวมาดี จะต้องมีการเตรียมการ และการซ้อมมาเป็นอย่างดีว่า เนื้อหา slide และประเด็นต่างๆที่จะพูดนั้น สามารถจบได้ในเวลาที่ได้เตรียมไว้ให้

ระยะเวลาที่ดีที่สุดในการจบการบรรยายคือการปิดการบรรยายก่อนเวลา 5 นาที เพื่อให้เป็นเวลาในการซักถาม ทักทาย หรือในกรณีที่ไม่มีคำถาม การให้เวลาพักกับผู้ฟังเพิ่มขึ้น 5 นาที จะทำให้เค้ารักคุณมากขึ้นอีกโขเลยทีเดียว

 

ขอสรุปทิ้งท้ายว่าผู้บรรยายที่ดีต้องมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี เป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นมืออาชีพ ผู้ฟังชอบการบรรยายที่ชัดเจน จริงจัง และคุ้มค่ากับเวลาที่พวกเขาเสียไป

origitnal article: 10-things-you-should-never-say-during-presentations