อยากบันทึกให้ได้ทุกวันทำยังไงดี

เหมือนฟ้าจะส่งคำเตือนลงมา ว่าจงเพิ่มเนื้อหาในเว็บบล็อกของแกบ้างเถอะ อยากจะมีบล็อกกะเค้าก็ต้องหมั่นอัพเดทนะจ๊ะ เพราะขณะที่กำลังหาอะไรอ่านเพลินๆ ก็เจอคำแนะนำวิธีฝึกฝนการเขียนบันทึกให้เป็นนิสัยประจำวัน 7 ประการ โผล่มาตัวเบ้อเร่อ ประหนึ่งเป็นคำสั่งให้จงทำเสียเถอะ เลยมาเล่าให้ฟังเค้าว่ายังไงบ้าง

คนเรามีเหตุผลในการบันทึกอะไรต่อมิอะไรแตกต่างกันครับ หลักๆที่เห็นได้ชัดๆก็เวลาเรียนหนังสือ อันนั้นเป็นการบันทึกความรู้ใหม่ๆเพื่อเอามาทบทวน (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ จะมาเขียนบันทึกแบ่งปันความรู้ก็ไม่ผิดนะ) ส่วนที่เห็นได้โดยทั่วไปก็จะเป็นเรื่องราวต่างๆที่ได้พบเจอมา ผ่านมุมมองของแต่ละคนแล้วก็อยากบันทึกเก็บไว้ ทั้งที่เก็บไว้อ่านคนเดียว หรือแบ่งปันกับคนอื่น เพื่อต่อยอดมุมมองความคิด หรือเอาไว้กลับมาอ่านเป็นความทรงจำในวันข้างหน้าก็แล้วแต่ ในอีกหลายๆกรณี การเขียนบันทึกก็สามารถเอาไว้แบ่งปันความรู้ที่มี พร้อมไปกับการแสดงถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้เขียนเป็นโปรโมตตัวเองได้อีกทางหนึ่ง

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความหลายหลายของชนิดเนื้อหาสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ตัวอักษรเท่านั้น ภาพถ่าย วีดีโอคลิป รวมไปถึงการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ทำให้การทำบล็อกของตัวเองขึ้นมาทำได้เพียงแค่ไม่กี่คลิ๊ก สุดท้ายแล้วปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็กลับมาตรงที่ ตัวขี้เกียจในใจเรานี่เอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ถ้าเราบันทึกอะไรซักอย่างแค่รายสัปดาห์ แต่ละปีเราก็จะมีเนื้อหาถึง 52 บทความเลยทีเดียว ไม่ยากนะแต่จะเริ่มต้นยังไงดี

1.วางรูปแบบเนื้อหาก่อน

อยากจะนำเสนอเรื่องอะไร อยากให้บล็อกเรามีเนื้อหาแบบไหน ถ้าอยากแบ่งปันความรู้ก็ต้องดูว่าเราเชี่ยวชาญอะไร ถ้าอยากเล่าเรื่อง ก็ต้องดูว่าเรามีกิจกรรมอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข อยากเล่า อยากแบ่งปัน อยากชวนคนอื่นๆมาร่วมกิจกรรมกัน หรืออย่างน้อยการเขียนเล่าเหตุการณ์จิปาถะประจำวันในรูปแบบไดอารี่ ก็สามารถนำมาเขียนบันทึกได้เหมือนกัน

2.สัญญากับตัวเองว่าจะเขียนทุกวัน

ให้เวลากับการเขียนวันละ 20-30 นาทีทุกๆวัน ปิดทีวี ปิดโทรศัพท์ ปิดสิ่งต่างๆที่อาจจะมารบกวนจิตใจ หาเวลาอยู่กับตัวเอง ทบทวนเหตุการณ์ต่าง แล้วก็เขียน ไม่ต้องห่วงเรื่องความสวยงาม ไม่ต้องห่วงเรื่องการเรียบเรียงเนื้อหา แต่ให้เน้นที่การสรุปประเด็นสำคัญ

3.ไอเดียแว๊บมาต้องรีบจด

ไอเดียต่างๆมักจะมาแบบไม่บอกกล่าว นึกอยากจะแว๊บมามันก็โผล่มา ถ้าไม่รีบจดไว้มันก็จะหายไป นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก มักจะเป็นประเด็นสั้นๆมักจะเกิดขึ้นเวลานั่งนึกอะไรเพลินๆ หรือนั่งคุยกับเพื่อนๆแล้วเกิดไอเดียแปลกๆขึ้นมาให้เรานึกว่า เราอยากเขียนเรื่องนี้แหละ ต้องรีบจดไว้ ไม่งั้นลืม

4.ใส่ความเป็นตัวเองลงไปในตัวอักษร

เรื่องราวเดียวกันร้อยคนก็ร้อยมุมมอง เรื่องที่เราอยากจะบันทึกอาจจะมีใครซักคนเขียนเอาไว้ก่อนแล้ว แต่คนเราไม่ได้คิดเหมือนกันไปหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หรืออย่างน้อยๆลีลาการเขียน การใช้คำยังไงซะก็ไม่เหมือนกัน ใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไป อย่าพยายามเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความจริงใจในตัวอักษรของตัวเอง

5.เริ่มเขียนในรูปแบบร่างก่อนเสมอ

การเขียนทุกครั้งไม่จำเป็นว่าต้องเสร็จ ครบ จบออกมาเป็นหนึ่งเรื่องราวในหัวก่อนแล้วค่อยเขียน บางครั้งไอเดียจะกระจัดกระจายอยู่เป้นส่วนๆ เราเองก็สามารถเขียนแยกออกเป็นส่วนๆได้เช่นกัน เริ่มที่โครงร่าง เขียนไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะมีการเชื่อมโยงเรื่องราวออกมาให้เราเห็น แล้วนำมาปรับเป็นบันทึกที่สมบูรณ์ได้

6. เขียนเก็บเอาไว้ก่อน

ถ้าเราตั้งใจจะนำบันทึกขึ้นบล็อกของเราซักชิ้น ก็ให้เขียนเก็บเอาไว้ซัก 2-3 ชิ้น เผื่อในกรณีฉุกเฉินที่เราไม่สามารถเขียนบันทึกเพิ่มได้ เราจะได้มีบันทึกนำขึ้นเว็บได้ในรอบต่อไป (อย่าลืมว่าบล็อกที่ดีต้องมีการอัพเดทสม่ำเสมอครับ) อีกเหตุผลนึกก็คือ เราจะได้มีเวลาตรวจทานอีกครั้งก่อนเอาขึ้นเว็บ

7. จงเป็นหนอนหนังสือ

ถ้าสังเกตดีดี คนที่เขียนบันทึกเก่งๆล้วนแล้วแต่เป็นนักอ่านตัวยง เพราะฉะนั้นจงอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เสพสื่อทุกประเภท หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ บทความ กระทู้ความเห็นต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้ที่สุดแล้วจะกลับมาเป็นวัตถุดิบให้เราเขียนบันทึกต่อไปในวันหน้าทั้งนั้น

หากถามใครๆทำยังไงถึงจะเขียนเก่งๆ คำตอบส่วนใหญ่คือเขียนบ่อยๆ จงเขียนและเขียน เขียนอะไรก็ได้ การเขียนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนครับ เมื่อก่อนตัวเองก็เคยเขียนบันทึกได้ทุกวัน บางวันเขียนได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง พอหยุดเขียนไปหลายปี ตอนนี้กลับมาเขียนใหม่ รายสัปดาห์ยังยากเลยครับ ที่เขียนๆไว้ 7 ข้อด้านบน ก็ต้องเอาไปฝึกตัวเองด้วยเหมือนกัน

เขียนๆอะไรกันมา ก็เอามาแลกกันอ่านกันได้ ขอให้สนุกกันถ้วนหน้าครับ

ที่มา : Jarvis, P. (2014, August). 7 ways to cultivate your daily blogging practice. Retrieved from http://thenextweb.com