BNK48 – Girls Don’t Cry เพราะแค่พยายามไม่พอให้ไปถึงฝัน

***** SPOIL ALERT – เปิดเผยเนื้อหาภาพยนต์ เยอะมาก !! *****

ไปดูมาแล้วเรียบร้อยและออกมาด้วยความรู้สึกที่หลากหลายแต่ก็เตรียมใจไว้แล้ว ถามว่ามีเสียน้ำตาไหม ก็ขอตอบว่าเตรียมตัวเข้าไปร้องไห้เลยนะ แต่สุดท้ายก็เพียงแค่ซึ้งๆไม่ถึงกับกลั่นออกมาเป็นหยดน้ำ ต้องยอมรับว่าเป็นหนังที่เล่าเรื่องได้ไหลลื่น แล้วก็พาอารมณ์คนดูขึ้นลงด้วยจังหวะที่ดีเอามากๆ ซึ่งทำมันทำให้ช่วงที่สนุกก็สนุกได้เต็มที่ และช่วงที่ต้องเศร้า ดราม่า หรือแม้กระทั่งส่วนที่ต้องดาร์ก ก็พาคนดูลงไปได้สุดพอสมควร เป็นหนัง documentary ที่ดูได้ทุกคน เด็กดูก็จะรู้สึกแบบนึง คนเป็นผู้ใหญ่ดูก็จะรู้สึกแบบนึง คนที่กำลังท้อก็จะรู้สึกแบบนึง คนที่กำลังตามฝันอะไรบางอย่างก็จะรู้สึกได้อีกแบบนึง ส่วนตัวคงหาโอกาสดูซ้ำ เพราะรู้สึกว่าเรื่องราวมันสะท้อนอะไรให้กับตัวเองได้มากมาย ดูรอบเดียวเดินออกมาก็ลืมไปเยอะเหมือนกัน

หนังพาเราโลดแล่นไปตาม timeline ของ BNK48 รุ่นที่ 1 บรรยากาศการคัดตัว การพบกันครั้งแรกของสมาชิก ให้ข้อมูลเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับความเป็น “เซ็มบัตสึ” หรือตัวจริง ตัวสำรอง เพื่อให้เริ่มเห็นภาพของแรงกดดัน ประเด็นของระดับชั้นที่เกิดขึ้น และเหตุผลที่ต้องมีการแข่งขันกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงใหญ่ๆได้สองช่วงคือก่อนที่เพลง คุ๊กกี้เสี่ยงทายจะดัง ซึ่งมีความกดดันย่อยในประเด็น ถ้า BNK48 ไม่ดังจะทำยังไงดี ที่ซ้อมกันมาที่เหนื่อยกันมาปีกว่า แล้วสัญญาที่เซ็นไปตั้ง 6 ปี จะยังไง ช่วงที่สองคือช่วงหลังจากที่เพลง คุ๊กกี้เสี่ยงทายดัง ทำให้วง BNK48 กลายเป็นกระแสหลักในระดับประเทศ และดังต่อเนื่องข้ามปี ซึ่งในภาพของวงเป็นเรื่องที่ดี แต่ในส่วนของสมาชิก ยิ่งทำให้ระยะห่าง และแรงกดดันระหว่างกลุ่มสมาชิกที่ได้เป็นเซ็นบัตสึ กับกลุ่มที่ยังไม่เคยติด หรือที่เรียกว่า undergirl เพิ่มมากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

ทั้งหมดทั้งปวงกลายเป็นที่มาในเนื้อหาหลักของหนังซึ่งมาจากความในใจ จากบทสัมภาษณ์ของสมาชิกแต่ละคน ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก คำถามถึงอนาคต ความในใจ ความรู้สึกข้างใน ความดาดหวังจากภายนอก และการดิ้นรนทดสอบและตั้งคำถามกับคำว่า “พยายาม” ของแต่ละคน

เราทุกๆคนก็เหมือนๆกับสมาชิกวง BNK48 คือเริ่มต้นการเดินทางด้วยความฝันอันสดสวย แต่ “ความจริง” ระหว่างทาง มันทำให้ระยะทางของเราทุกคนไม่เท่ากัน

คนที่เข้าใจความจริงของการทำงานได้ก่อนคือคนที่ได้เปรียบ สมาชิกที่มีวุฒิภาวะมากกว่า สมาชิกที่เคยผ่านงานจริงๆมาก่อน สมาชิกที่มีประสบการณ์รองรับแรงกดดันในโลกแห่งความจริงๆ คือกลุ่มที่มักจะถูกเลือกเป็นตัวจริง

“ความไม่มีตัวตนมันโหดร้าย โลกมันโหดร้าย that’s the fact”
“มันต้องได้ มันก็ต้องทำให้ได้ ทำทั้งทีก็ต้องสุด”
“ถ้าหนูไม่ติดเซ็มเพลงแรก เค้าจะให้หนูลาออก หนูร้องไห้หนักที่สุดในชีวิต หนูไม่อยากให้มันเกิดขึ้น”
“ได้โอกาสมาแล้วจะทำให้ดีที่สุด มันก็ต้องเลือก ต้องจัดการให้งานมันสำเร็จให้ได้”

เราทุกๆคนก็เหมือนๆกับสมาชิกวง BNK48 คือต้องการรู้สึกว่าเราเป็นที่ยอมรับในโลกใบนี้ ครั้งหนึ่งทุกคนก็ต้องเคยผ่านจุดที่ฝืนอะไรหลายอย่างๆเพื่อเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่โรงเรียน ที่ทำงาน ทนอยู่กับความทุกข์ทรมาณไปจนกระทั่งเราต้องเรียนรู้ให้ได้ว่า มันไม่มีทางหรอกที่จะเป็นอะไรแล้วทำให้ทุกคนพอใจ สิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือการเป็นตัวของตัวเอง แล้วให้ความสำคัญกับคนที่มีเคมีเข้ากัน คนที่รักเราเพราะตัวตนจริงๆของเรา

“พอเรามองความคาดหวังว่าวงต้อง น่ารัก แบ๊วๆ ทุกคนก็เลยแบ๊ว กันหมดเลย…ไปดูรูปช่วงแรกๆซิ”
“หนูก็เช็คกระแสตลอดเลยนะ ทำโน่น ทำนี่ เฮ๊ยทำแบบนี้แล้วคนเค้าชอบ…หนูก็จัดเลยจัดเต็มให้เลย”
“เอ๊ากลายเป็นมีคนแอนตี้อีก … โอ๊ยยย โวยวาย อะไรกัน(วะ)”
“ไอ้คนที่มาพูดว่าให้พยายามอีก มันต้องอีกแค่ไหนถึงจะพอ”

เราทุกๆคนก็เหมือนๆกับสมาชิกวง BNK48 คือในช่วงเวลาที่เหนื่อย ที่ท้อแท้ ที่ต้องเผชิญกับความจริงว่าโลกนี้มันไม่ได้เท่าเทียม เราจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วก็ลืมไปบ้างที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา .. ถ้าเราเคยผ่านชีวิตมาช่วงหนึ่งมันต้องเคยมีซักครั้งที่เราเคยบ่นกับตัวเองว่า “ทำไมโลกนี้มันไม่เท่าเทียมกัน” จนกระทั่งถึงจุดที่เราใจเย็นลง แล้วนึกถึงความจริงอีกข้อหนึ่งได้ว่า “ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว”

ประเด็นนี้ถือเป็นจุดพีคหนึ่งของเรื่องราวในหนัง ที่เอาเข้าจริงๆโดนส่วนตัวมองว่า คนที่เคยผ่านประสบการณ์เป็น “คนข้างบน” มาก่อน จะเข้าใจถึงน้ำตาของ กัปตัน ที่เอิ่อล้นออกมาได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าเป็นฉากหนึ่งที่เรียกน้ำตาคนวัยทำงานได้พอสมควร

“ก็คนข้างบนอะ เค้าคงไม่มีวันที่จะมาเข้าใจคนข้างล่างแบบเรา”
“สามารถพูดได้เลยว่า คนที่อยู่ด้านล่าง ไม่มีวันที่จะเข้าใจแรงกดดันจากความคาดหวังที่คนข้างบนต้องรับไว้”

เราทุกๆคนก็เหมือนๆกับสมาชิกวง BNK48 คือเราทุกคนถูกบอกว่าจงเป็นคนเก่ง จงเป็นคนดี เรียนรู้เยอะๆ มีความสามารถเยอะๆ แต่โอกาสในโลกแห่งความเป็นจริง มันก็เลือกวิ่งเข้าใส่คนที่ภาพลักษณ์เป็นหลัก ในความเป็น BNK48 ความจริงที่เจ็บปวดคือต่อให้ร้องเต้นเก่งแค่ไหน ถ้าไม่มีกระแสก็ไม่ถูกเลือก ในโลกของการทำงานนอกจากความสามารถทำให้เราผ่านข้อเขียน แต่ Character เป็นสิ่งวัดว่าเราจะผ่านสัมภาษณ์หรือไม่ ทำไมสมาชิกทุกคนต้องมี facebook , IG ต้องคอยอัพรูป ต้องทำคลิป มันคือการทำ personal branding อย่างหนึ่ง และนี่คือความจริงที่โหดร้ายที่สุดของการอยู่ใน BNK48

“เนียดูกันง่ายๆเลย ใครที่มีฉายานะ คนนั้นอะติดเซ็มฯ”
“หนูก็รู้ตัวว่าหนูไม่สวย แต่หนูก็พยายามแล้วมันไม่ได้ส่งผลอะไรบ้างเลยเหรอ”
“น้องเค้าก็ไม่ได้ถูกเลือกด้วย .. เหตุผลบางอย่าง .. ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้ “

เราทุกๆคนก็เหมือนๆกับสมาชิกวง BNK48 คือในวันที่เราสับสนและท้อแท้ถึงขีดสุด กำลังใจที่ส่งผ่านมาถึงเราด้วยใจจริง แม้เพียงน้อยนิด แต่ก็สามารถกลายเป็นพลังมหาศาลที่ทำให้เราเดินต่อไปได้อีก ทุกๆครั้งที่สมาชิกในวงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันควรจะลาออกดีไหม แววตาของสมาชิกเวลาบอกเล่าถึงกำลังใจที่ได้จากงานจับมือ มันเป็นแววตาแห่งความหวังระยิบระยับมากมาย ทุกๆคนเวลาพูดถึงงานจับมือเหมือนมีพลังแห่งความสุขบางอย่างวิ่งอยู่ในร่างกาย

จากที่รอดการเสียน้ำตาจากซีน “คนข้างบน” สุดท้ายก็มาเอ่อเอาที่ฉากนี้ แล้วเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นฉากที่ทำให้ ผกก. ร้องไห้ ทุกครั้งที่ดู .. เอาจริงๆคือไม่สามารถบรรยายได้ ต้องไปดูเอง ไม่มีคำพูด ไม่มีเสียงดนตรี เป็นความเงียบและการส่งผ่านอารมณ์ที่ “จริง” โครตๆ มันคือฉากที่แสดงให้เห็นถึง ความ Real ของ documentary จริงๆ

ที่เขียนมาทั้งหมดด้านบนเป็นเหมือนประเด็นที่ได้จากหนังและอยากจะบันทึกเอาไว้ซึ่งเหมือนจะมีแต่เรื่องซีเรียสๆ แต่ตัวหนังจริงๆมันไม่ได้ซีเรียสตลอด มันก็มีสดใจ ตลก เฮฮา วิ้งๆ ดาร์คๆ อันถูกเรียบเรียงโดย คุณเต๋อ นวพล ผกก. ที่เล่าเรื่องเก่งมากๆๆๆ คนนึงเลย นี่ไม่เคยดูหนังเค้าเลยนะ นี่เป็นเรื่องที่สอง ต่อจาก The master แล้วก็คิดว่าคงจะเริ่มไปหาหนังเค้าดูเพิ่มน่าสนใจๆ

ประเด็นอื่นๆที่อยากจะบันทึกไว้ก็คงประมาณข้างล่างนี้

+ ถ้า Girls Don’t Cry เป็น single , ปูเป้คือ center แน่นอน
+ เอาใจช่วยน้อง จิ๊บ มาโดยตลอด เป็นอีกคนที่มีของแค่ยังไม่ถึงเวลาเปล่งประกาย
+ หนังเรื่องนี้ใช้ ปูเป้ ดำเนินเรื่องแต่ spotlight จริงๆคือ Jib นะ
+ ตัวอย่างของ Character ที่เริ่มชัดเจนขึ้นมาทีหลังคือ คุณอ๊บ น้ำหนึ่ง (เจน และมาย กำลังตามมา)
+ อย่าลืมว่า Girls Don’t Cry เป็นมุมที่ ผกก. เต๋อ เลือกที่จะเล่า เชื่อว่ามันมีเรื่องราวอีกเยอะ
+ เราเข้าใจ แคป ฌ นะ เราเคยผ่านบทบาทตรงนั้นมา มันหนักหนาสำหรับคนอายุ 20 ต้นๆมาก
+ แรงกดดัน และการแบกรับความคาดหวังของสมาชิก เค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมเองนะ
+ ฉากน้องเจน นี่คือ “ที่สุด” จริงๆ
+ ชอบช่วง credit มาก ทุกคนมาไกลจริงๆ
+ end credit ….. ให้มันจริง จะกลับมากำกับอีกป่าวล่ะ เต๋อ

Cover Image : girlsdontcrythemovie.com