ทำความรู้จักกับมาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐ

ผู้คนในยุคปัจจุบันมักจะคุ้นเคยกับการใช้งานเว็บไซต์เพื่อข้อหาข้อมูล หรือเข้าถึงบริการต่างๆเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากพูดถึงการค้นหาข้อมูลที่ข้องเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ ก็มักจะเข็ดขยาดไปก่อนล่วงหน้า ในเรื่องของหน้าตาที่เชยแสนเชย การจัดวางรูปแบบที่มึนงง และเมนูเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาซะเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Interface โดยรวม ซึ่งไม่ friendly เอาเสียเลยกับผู้ใช้งาน

มาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐ

ในยุคที่แนวโน้มการให้งานบริการผ่านสื่อเว็บไซต์ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ว่าไว้ ก็เลยมีการจัดทำ “มาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” ขึ้นมา โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตัวมาตราฐานนี้เองเสร็จเรียบร้อยแล้ว อันที่จริงเริ่มใช้งานมาได้ปีกว่าๆแล้วด้วย เอกสารมาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐ สามารถเข้าไปอ่านเต็มๆได้ที่เว็บไซต์ของ e-Government แต่จะขอสรุปคร่าวๆเอาไว้แบบนี้ครับ

1.มาตราฐานทางด้านเนื้อหา

มาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐทำขึ้นมาเพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นมาตราฐานในการจัดวางโครงสร้างเนื้อหาข้อมูล และคล้ายๆกับเป็น check list ว่าเว็บไซต์ของท่านมีข้อมูลครบถ้วน และมีการจัดวางโครงสร้าง หมวดหมู่เนื้อหา ถูกต้อง และเป็นมาตราฐานเดียวกัน ตัวอย่างคือ ถ้าผู้ใช้งานต้องการติดต่อหน่วยงานนั้นๆ ในเว็บไซต์จะต้องมีเมนู “ติดต่อ” เพื่อแสดง(ลิงค์ไปยังหน้าเว็บ) ที่มีข้อมูลที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้จริง ทุกกระทรวง ต้องมีเมนูแบบนี้เหมือนกัน เข้าไปในเมนูนั้นแล้วต้องมีเนื้อหาแบบเดียวกัน .. ตรงนี้เหมือนกับเป็น user friendly แบบนึงครับ

2. มาตราฐานทางด้านความปลอดภัยของระบบ

มาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐลงรายละเอียดลึกไปถึงขั้นตอนการพัฒนา application ที่จะมีการใช้งานในเว็บไซต์ด้วยครับ การวางระบบต้องมีความปลอดภัย การเขียนโปรแกรมต้องมีการตรวจสอบ ทั้งในกระบวนการเขียนแบบ secure coding และมีกระบวนการแก้ bugs ต่างๆ

ถ้ามีการลงทะเบียน หรือมีการข้องเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล การเชื่อมต่อควรจะต้องเป็นแบบ SSL หรือมีการเก็บข้อมูลที่มีการเข้ารหัส (Encrypted) ก็มีการระบุไว้เช่นกัน

3. มาตราฐานทางการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

ในข้อนี้สรุปสั้นได้ว่า ถ้าต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันข้ามหน่วยงาน ก็ให้ใช้ Web Service ครับ

4. มาตราฐานทางด้านคุณลักษณะ

มาตราฐานทางด้านคุณลักษณะ มุ่งประเด็นไปที่เรื่องของ User Experience ครับ เป็นเรื่องของการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เรื่องของการตรวจสอบลิงค์เสีย (404 file not found) ลงลึกไปถึงคำแนะนำในการตั้งชื่อ ไฟล์ และโฟลเดอร์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาภายใน รวมไปถึงคำแนะนำในการนำ Analytics มาประยุกต์ใช้กันเลยทีเดียว

W3C-WAI

สิ่งที่เป็น highlight ของมาตราฐานทางด้านคุณลักษณะ เป็นเรื่องของ W3C standard หรือการผ่านการ Verifiled HTML, CSS และที่เพิ่มขึ้นมาจากเว็บไซต์เอกชนอื่นๆทั่วไปก็คือ มาตราฐาน TWCAG ซึงย่อมาจาก Thai Web Content Accessibility Guidelines 2010 โดยมีชื่อไทยคือ การพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แปลไทยเป็นไทยสั้นๆคือ เว็บภาครัฐนั้นผู้พิการต้องสามารถใช้งานได้ครับ .. คำถามคือ คนตาบอดจะเข้าถึงเนื้อหาในเว็บได้อย่างไร , คนที่หูหนวก , คนที่ไม่มีแขนจับเมาท์ไม่ได้ จะมีหนทางซึ่งสามารถเข้าถึงเนื้อหาในเว็บไซต์เราได้หรือไม่ (เรื่องของ WCAG นี้ขออนุญาตแยกเป็นอีกบทความนึงต่างหากครับ)

กลับมาที่ตัวเว็บไซต์ครับ ในทางปฏิบัตินั้นการให้บริการและปริมาณข้อมูลที่ต้องนำเสนอต่อประชาชนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้แบ่งระดับของเว็บไซต์ภาครัฐออกเป็น 4 ระดับ โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน เทคโนโลยีที่ใช้ และปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานดังนี้ครับ

4 ระดับของเว็บไซต์ภาครัฐ

ระดับที่ 1 : เว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

 มันคือเว็บไซต์ในรูปแบบ web 1.0 คือ เข้ามาอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว

ระดับที่ 2 : เว็บไซต์ที่มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาชน

เว็บไซต์ที่มีการ interact กับผู้ใช้งาน คล้ายๆกับเว็บไซต์ในยุค web 2.0 คือมีการโพสโต้ตอบกันระหว่างหน่วยงาน กับผู้ใช้งาน มีการตั้งกระทู้ถาม แบบฟอร์มอีเมล์ ประมาณนั้นครับ

ระดับที่ 3 : เว็บไซต์ที่มีการให้บริการธุรกรรมแบบต่างๆ

เป็นเว็บไซต์ที่มี application ทำงานอยู่ภายในคือ มีระบบให้บริการออนไลน์ต่างๆ เช่น ระบบนัดหมาย ระบบจ่ายเงินค่าบริการออนไลน์

ระดับที่ 4 : เว็บไซต์ประเภท one stop service (มีการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงาน)

จากที่เคยเข้าร่วมสัมมนา ทาง e-Gov ให้ตัวอย่างเว็บไซต์แบบที่ 4 คือเว็บไซต์ระบบการยื่นแบบภาษีของกรรมสรรพากรครับ คือตัวเว็บไซต์มี application ทำงานอยู่ภายใน และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฏร์ เพื่อดึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ยื่นชำระภาษีข้ามหน่วยงาน มีการเชื่อมต่อกับระบบธุรกรรมทางการเงิน ระบบการยืนรับเอกสาร หลายๆระบบรวมกันเพื่อให้เป็น one stop services ครับ

เว็บไซต์ทั้งสี่ระดับนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนก็ตาม ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงลึกไปในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับประเภท และบริการทางอิเล็คโทรนิกส์ ที่ใช้งานอยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการ พัฒนา และใช้งานให้ตรงตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตราฐานครับ

ณ ปัจจุบันจากที่ได้คุยๆกับคนทำงานตรวจสอบ และคนทำเว็บในภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กระบวนการต่างๆก็ยังอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปครับ เนื่องจากเนื้อหาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆนั้นเยอะมาก กอปรกับกระบวนการในการสั่งการต่างๆก็ต้องเป็นไปตามระบบราชการ .. ไม่แน่ใจว่าแถวๆนี้เผื่อจะมีใครได้รับงานออกแบบ และพัฒนาเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ก็หวังว่าข้อมูลตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม : มาตราฐานเว็บไซต์ภาครัฐ โดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็คโทรนิกส์